นอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ โรคร้ายที่อาจทำให้ตายไม่รู้ตัว

นอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ

หัวข้อย่อย

– ภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับคืออะไร

– หยุดหายใจขณะหลับอันตรายยังไง

– ใครบ้างเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ ?

– สังเกตยังไง ว่าหยุดหายใจขณะหลับ ?

– สรุป

นอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) คือโรคร้ายที่มาพร้อมกับการนอนหลับที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้ถึงความอันตรายร้ายแรงของโรคนี้ การนอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้นร่วมด้วย เป็นภาวะที่มีความรุนแรงและส่งผลอันตรายต่อชีวิต

       โดยเฉพาะหากเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับระดับรุนแรง (severe) อาจส่งผลกระทบจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย เนื่องจากการหยุดหายใจขณะหลับเป็นหนึ่งในปัจจัยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆแทรกซ้อนขึ้นมากมาย เช่น ภาวะใหลตาย,โรคหลอดเลือดสมอง,โรคหลอดเลือดหัวใจ,เบาหวาน,อัมพาต,ความดันโลหิตสูงโดยไม่สามารถหาสาเหตุได้

ภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับคืออะไร

       ภาวะนอนกรนเป็นปัญหาใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการนอนหลับ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจาก ช่องของทางเดินหายใจส่วนต้นตีบแคบหรือถูกอุดกั้นกีดขวางทางเดินหายใจในขณะนอนหลับ จากกล้ามเนื้อภายในช่องคอ เช่น โคนลิ้น เพดานอ่อน เกิดความหย่อนยาน หย่อนคล้อย และตกลงไปอุดกั้นกีดขวางทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ลมหายใจหรืออากาศที่เดินทางผ่านช่องทางเดินหายใจที่ตีบแคบนั้น เกิดการเสียดสีกันระหว่างเนื้อเยื่อภายในลำคอและลมหายใจ ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อภายในช่องคอ จากลมหายใจที่เดินทางผ่านช่องแคบบริเวณนั้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวเกิดการสั่นสะเทือน ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดเสียงกรนขึ้นจากภายในช่องคอขณะหลับ

       และการนอนกรนเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) เนื่องจากเมื่อทางเดินหายใจส่วนต้นถูกอุดกั้นหรือตีบแคบลง ทำให้การหายใจในขณะหลับเกิดปัญหาที่ติดขัด หายใจได้ลำบากมากยิ่งขึ้น ซึ่งในบางรายที่มีภาวะการอุดกั้นในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะการหยุดหายใจขณะหลับตามมา โดยมีอาการของการหยุดหายใจเป็นช่วงๆพักๆในขณะหลับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่างๆภายในร่างกายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบหัวใจที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น รวมถึงระบบสมองที่อาจเกิดการทำงานที่ผิดปกติไปจากการขาดออกซิเจนในขณะที่ร่างกายมีสภาวะหยุดหายใจ

       โดยอ้างอิงจากสถิติแล้วเพศชายจะมีแนวโน้มและโอกาส ในการเกิดภาวะนอนกรนที่มากกว่าเพศหญิง เนื่องจากฮอร์โมนของเพศหญิงมีส่วนที่ทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจส่วนต้นทำงานได้ดีกว่า และมีความตึงตัวที่ดีกว่าในเพศชาย จากการสำรวจสถิติที่ผ่านมาพบได้ว่า

สถิติในช่วงอายุ 30-35 ปี เพศชายจะพบปัญหานอนกรน 20 % ในขณะที่เพศหญิงพบปัญหานอนกรน 5 %

สถิติในช่วงอายุ 45-60 ปี เพศชายจะพบปัญหานอนกรนเพิ่มขึ้นสูงมากถึง 60 % ในขณะที่เพศหญิงพบภาวะนอนกรนที่สูงมากขึ้นถึง 40 % เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม

| ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

นอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ

หยุดหายใจขณะหลับอันตรายยังไง

       ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ เป็นภาวะที่ทางเดินหายใจส่วนต้นถูกอุดกั้นในขณะหลับ มีลักษณะอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆพักๆในขณะหลับ ทำให้ร่างกายเกิดสภาวะขาดออกซิเจน อากาศไม่สามารถไหลผ่านเข้าสู่ปอดได้เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในบางรายอาจมีระยะเวลาในการเกิดภาวะหยุดหายใจที่ยาวนานมากถึง 10 วินาที หรือในระดับที่มีภาวะการอุดกั้นของทางเดินหายใจอย่างรุนแรงอาจมีระยะเวลาที่ยาวนานมากกว่านี้ ซึ่งส่งผลต่อร่างกายทำให้เกิดสภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำลง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คุณภาพของการนอนหลับแย่ลง มักจะมีอาการนอนหลับไม่เต็มอิ่มไม่ว่าจะนอนนานเท่าไหร่ ง่วงนอนอ่อนเพลียบ่อยๆในช่วงเวลากลางวัน เกิดอารมณ์ที่แปรปรวน ส่งผลต่อการทำงานที่ผิดปกติของระบบหัวใจและสมอง

โรคร้ายแทรกซ้อนที่เกิดจากการนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ

– ภาวะหัวใจล้มเหลว (จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีภาวะการหยุดหายใจขณะหลับมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมากกว่าคนทั่วไปถึง 140%)

– หลอดเลือดสมองตีบ (รายงานการศึกษาบางฉบับได้ชี้ว่า การนอนกรนร่วมกับหยุดหายใจขณะหลับ ส่งผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน มากกว่าคนที่ไม่มีภาวะนอนกรนหยุดหายใจมากถึง 30%)

– โรคหลอดเลือดหัวใจ (การศึกษาพบว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีความสัมพันธ์ที่เพิ่มอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น 60%)

– ภาวะซึมเศร้า (ผลการศึกษาจากกลุ่มทดลองพบว่า 47.2% ของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า มักมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับระดับรุนแรงร่วมด้วย)

– โรคเบาหวาน (ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าคนทั่วไปถึง 6 เท่า)

– สมองเสื่อม (มีรายงานจากผลการวิจัยชี้ว่า ภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองส่วนที่ใช้เก็บความทรงจำ)

อ่านเพิ่มเติม

| ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ใครบ้างเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ ?

       มีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งกลุ่มคนที่มีลักษณะ หรือ พฤติกรรม ดังต่อไปนี้ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสและแนวโน้มต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าคนปกติทั่วไป

– น้ำหนักตัวเกิน (Overweight) หรือ โรคอ้วน (Obesity) การที่มีน้ำหนักตัวสะสมมากเกินไป เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการหยุดหายใจขณะหลับที่มากขึ้น เนื่องจากไขมันที่สะสมบริเวณเส้นรอบวงคอ หรือไขมันบริเวณรอบๆคอ อาจเกิดการหย่อนคล้อยตกลงมาปิดกั้นช่องทางเดินหายใจในขณะหลับ ทำให้ทางเดินหายใจมีขนาดที่แคบลง เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางเดินหายใจถูกอุดกั้น (ซึ่งอ้างอิงจากผลการศึกษา น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น 10 % มีโอกาสและแนวโน้มที่จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้นถึง 32%)

– อายุที่เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าภาวะการหยุดหายใจขณะหลับนั้นจะสามารถพบและเกิดขึ้นได้กับทุกวัยก็ตาม แต่ในกลุ่มของวัยกลางคน และผู้สูงอายุที่มีอายุมากขึ้นนั้นมีความเสี่ยงและแนวโน้มที่จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่มากกว่าวัยอื่นๆ เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนต้น และกล้ามเนื้อบนใบหน้า เช่น กล้ามเนื้อลิ้น ปาก ขากรรไกร เพนดานอ่อน มีสมรรถภาพการทำงานที่ต่ำลง กล้ามเนื้อมีความหย่อนคล้อยตัวมากขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อเหล่านี้ และนำไปสู่การนอนกรนและภาวะหยุดหายใจในขณะหลับ

– เพศ ในเพศชายนั้นมีแนวโน้มความเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะนอนกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับที่มากกว่าเพศหญิง 5-6 เท่า เนื่องจากฮอร์โมนของเพศหญิงนั้นมีส่วนช่วยทำให้กล้ามเนื้อที่มีหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจส่วนต้น สามารถทำงานได้ดีกว่าและมีความตึงตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจที่มากกว่าในเพศชาย

– ลักษณะทางกายวิภาค โครงสร้างของใบหน้าที่มีลักษณะคางสั้น คางถอย คางเล็ก เป็นลักษณะของโครงสร้างใบหน้าที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าโครงหน้าในรูปแบบอื่นๆ เนื่องจากเมื่อมีลักษณะของคางที่สั้นมากกว่าปกติ ทำให้พื้นที่ภายในบริเวณช่องปากและช่องคอมีขนาดที่น้อยลงตาม ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อภายในช่องคอ เช่น กล้ามเนื้อโคนลิ้น ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องได้ ทำให้กล้ามเนื้อโคนลิ้นอยู่ในตำแหน่งที่ผิด ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการอุดกั้นทางเดินหายใจ

– ผู้ที่มีโรคประจำตัว สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวนั้น ถือเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากกว่ากลุ่มคนทั่วไป เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง

โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีแนวโน้วความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับเฉลี่ยถึง 50-90%

อ่านเพิ่มเติม

| นอนกรนเกิดจากอะไร เช็คด่วน ใครเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับบ้าง

นอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ

สังเกตยังไง ว่าหยุดหายใจขณะหลับ ?

ภาวะการนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับอาจมีวิธีที่สามารถสังเกตอาการในเบื้องต้นได้ดังนี้

นอนกรนเสียงดังเป็นประจำ : การนอนกรนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเสียงดังในขณะหลับ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่าทางเดินหายใจส่วนต้นถูกอุดกั้น หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยเฉพาะหากมีอาการหายใจลำบาก หายใจแรง

สะดุ้งเฮือกตื่นบ่อยๆในกลางดึก : โดยสามารถสังเกตได้ว่ามักจะมีอาการสำลัก หรือ สะดุ้งเฮือกตื่นขึ้นในขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถหายใจได้ในขณะหลับ เนื่องจากทางเดินหายใจถูกอุดกั้น ร่างกายจึงทำการปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นเพื่อลุกมาหายใจ จึงมีลักษณะอาการสะดุ้งเฮือกตื่นขึ้นในขณะหลับ

อารมณ์ทางเพศที่ลดลง : หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับความต้องการทางเพศที่ลดลง ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นได้ เนื่องจากการหยุดหายใจขณะหลับมีผลทำให้ความต้องการทางเพศลดลงได้ทั้งในเพศชายและหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศชาย เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ(ED) ความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว

ปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืน : การตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อยๆในช่วงเวลากลางคืนไม่ใช่เป็นแค่เรื่องปกติทั่วไป แต่เป็นหนึ่งในสัญญาณของการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากเมื่อร่างกายเกิดสภาวะหยุดหายใจ ส่งผลให้ความดันของช่องอกเพิ่มมากขึ้น เลือดดำเกิดการไหลกลับเข้าสู่หัวใจมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายเกิดการรับรู้ที่ผิดไปว่ามีปริมาณน้ำในร่างกายเยอะเกินไป และกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเคมีที่มีผลต่อการทำงานของไต ลดการดูดกลับของน้ำจากท่อไต ทำให้เกิดปัญหาปัสสาวะบ่อยในกลางดึก

เจ็บคอ ปากแห้ง : หากมีอาการเหล่านี้หลังตื่นนอน เป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่า เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจในขณะหลับร่างกายไม่สามารถหายใจได้ ซึ่งทำให้ร่างกายเกิดการหายใจทางปากแทนจมูกในขณะหลับ จึงทำให้มีอาการเจ็บคอ ปากแห้งหลังตื่นนอน และยังเป็นอาการที่บ่งบอกได้ว่าร่างกายมีภาวะนอนกรนในตลอดทั้งคืนจนทำให้เนื้อเยื่อบริเวณลำคอเกิดการอักเสบ และเกิดอาการเจ็บคอ คอแห้ง หลังตื่นนอน

อ่านเพิ่มเติม

| กรนอยู่แล้วเงียบไป อาจสู่ขิตไม่รู้ตัว มารู้จักอาการ “หยุดหายใจขณะหลับ”

สรุป

       ภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพการนอนหลับเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบถึงสุขภาพร่างกายโดยรวม ซึ่งภาวะการหยุดหายใจในระดับรุนแรงนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายต่างๆแทรกซ้อนขึ้นมากมาย ทั้งระบบหัวใจ หลอดเลือด สมอง รวมไปถึงพัฒนาการในด้านของอารมณ์ที่ทำให้เกิดสภาวะอารมณ์แปรปรวนขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า หากคุณหรือคนรอบตัวเกิดภาวะนอนกรนขึ้น ไม่ควรปล่อยไว้เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดโรคร้ายแทรกซ้อน

       ดังนั้นหากพบว่าตัวเองนอนกรนหรือสงสัยว่าตัวเองมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ ควรรีบทำการตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อวินิจฉัยถึงอาการความรุนแรงของภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดขึ้น และเป็นแนวทางในการเลือกรับวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม

อ่านต่อ

| ตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep test)

Scroll to Top