นอนกรนเกิดจากอะไร
อาการนอนกรนเกิดจาก การหายใจผ่านระบบทางเดินหายใจแคบลงในขณะที่เรานอนหลับ ซึ่งสาเหตุมาจากการอุดกั้นของกล้ามเนื้อและอวัยวะภายในช่องปาก ทำให้ช่องลมมีพื้นที่แคบลง และเกิดการสั่นของเนื้อเยื่อคอ เช่น ทอนซิล เพดานอ่อน ลิ้นไก่ สุดท้ายเกิดเป็นเสียงสั่นสะเทือน หรือที่เราเรียกว่า “เสียงกรน”
โดยความรุนแรงและอันตรายของการนอนกรน สามารถแบ่งได้ 3 ระดับ ดังนี้
- ความรุนแรงระดับ 1 คือ อาการนอนกรนทั่วไป มีเสียงไม่ดังมาก และเกิดขึ้นไม่บ่อย สำหรับภาวะนอนกรนในระดับนี้ยังไม่ร้ายแรง หรือส่งผลอันตรายต่อการหยุดหายใจขณะหลับ
- ความรุนแรงระดับ 2 คือ ภาวะนอนกรนที่เกิดขึ้นบ่อย โดยเราพบว่าเรานอนกรนมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งการนอนกรนในระดับที่ 2 สามารถส่งผลต่อการหายใจขณะนอนหลับได้ในระดับน้อยถึงปานกลาง ผู้ที่มีอาการนอนกรนในระดับนี้จะรู้สึกง่วงและเหนื่อยในเวลากลางวัน
- ความรุนแรงระดับ 3 คือ อาการนอนกรนขั้นรุนแรง การนอนกรนเกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน และมีเสียงดังมาก การนอนกรนในระดับที่ 3 จัดเป็นภาวะนอนกรนที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะทำให้เกิดการหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงสมองขาดออกซิเจนขณะหลับด้วย เนื่องจากระบบทางเดินหายใจของผู้ที่อยู่ในภาวะนี้จะถูกปิดกั้นอย่างต่อเนื่องขณะนอนหลับ
เช็คด่วน ใครเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ พบว่าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มีแนวโน้มที่จะพบมากในเพศชาย อายุ 30 ปี โดยความเสี่ยงจะยิ่งสูงขึ้นตามอายุ นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 60 ของผู้มีน้ำหนักตัวมาก จะมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ ซึ่งผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน อาจหยุดหายใจระหว่างหลับได้มากถึง 15 ครั้ง ใน 1 ชั่วโมง นอกจากผู้ที่มีภาวะเสี่ยงสูงดังที่กล่าวมา ภาวะหยุดหายใจขณะหลับยังพบได้ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ดังนี้
- ผู้ที่มีความผิดปกติทางสรีรวิทยา ผู้ที่มีช่องจมูกตีบตัน เกิดการอุดกั้นของโพรงจมูก ต่อมทอนซิลโต มีสันจมูกเบี้ยว คด คอหนา รูปคางผิดปกติ และลิ้นโตกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการหยุดหายใจขณะหลับ
- ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ มีปัญหาคัดจมูก หายใจไม่สะดวก เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะมีแรงต้านในโพรงจมูกสูงกว่าคนทั่วไป ทำให้ขณะหลับจะมีอาการแน่นหน้าอก และหายใจติดขัด
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย
- ผู้ที่มีความเครียดหรือความวิตกกังวล รู้สึกเหนื่อยล้ามาก
- ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน
- ผู้ที่รับประทานยากลุ่มที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยาคลายเครียด ยานอนหลับ
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เสพติดการสูบบุหรี่ เพราะพฤติกรรมดังกล่าวนี้มีส่วนทำให้กล้ามเนื้อช่องคอหย่อนตัวลงจนเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากอุดกั้น
- ผู้ที่มีพฤติกรรมนอนหงายเป็นประจำ ท่านอนหงายเป็นท่าที่ทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นบางส่วนหรือทั้งหมดได้
อันตรายจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การนอนกรนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เนื่องจากการนอนกรนเป็นประจำทำให้รู้สึกเพลีย ไม่กระปรี้กระเปร่า ความจำไม่ดี อารมณ์แปรปรวนง่าย รวมไปถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นผลมาจาก ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) คือ การที่เราหยุดหายใจร่วมด้วยในขณะที่เกิดอาการนอนกรน โดยเนื้อเยื่อคอหรือลิ้นหย่อนลงไปปิดทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ร่างกายต้องหายใจเข้ามากขึ้น เพื่อนำส่งอากาศผ่านทางเดินหายใจ แต่เนื่องจากทางเดินหายใจตีบและแคบลงกว่าปกติ สุดท้ายก็ส่งผลให้ทางเดินหายใจแคบลงจนปิดสนิท ด้วยเหตุนี้เอง สมองจึงไม่สามารถส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ และทำให้สมองขาดออกซิเจนขณะหลับ ผู้ที่ประสบปัญหาหยุดหายใจขณะหลับจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกหายใจแรง อ่อนเพลีย และไม่สดชื่น เพราะตลอดช่วงเวลานอนหลับ มีการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับหลายครั้ง
ผู้ที่มีปัญหาหยุดหายใจขณะหลับ สามารถพบได้ทุกช่วงวัย ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง รวมไปถึงผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยมักมีอาการนอนกรน นอนหลับไม่ต่อเนื่อง หยุดหายใจขณะหลับ ละเมอเดิน นอนกัดฟัน ชักขณะหลับ รู้สึกเจ็บคอและปากแห้งเมื่อตื่นนอน
9 สัญญาณเตือน! หากมีอาการเหล่านี้ คุณอาจเสี่ยง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- นอนกรน นอนกรนเสียงดังและบ่อยมากกว่า 3 คืน / สัปดาห์
- ผล็อยหลับ หรือรู้สึกง่วงนอนมากในเวลากลางวัน
- นอนหลับไม่สนิท นอนกระสับกระส่าย
- มีเสียงเงียบเหมือนหยุดหายใจสักพัก จากนั้นมีเสียงหายใจดังเฮือก
- ปวดหัวหลังตื่นนอนตอนเช้า
- ริมฝีปากเขียวคล้ำ
- หลงลืมบ่อย ความจำไม่ดี ไม่ค่อยมีสมาธิ
- หงุดหงิด ฉุนเฉียว อารมณ์แปรปรวนง่ายกว่าปกติ
- รู้สึกคอแห้ง เจ็บคอ หรือไอหลังจากตื่น
วิธีแก้ปัญหานอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยตัวเอง
ปัญหาการนอนกรน จัดว่าเป็นปัญหาด้านการนอนที่พบได้บ่อย ซึ่งไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เนื่องจากอาการผิดปกติเล็กน้อยอาจลุกลามเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งมีอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น สามารถแก้ไขอาการเบื้องต้นได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการนอนหงาย เพราะเป็นท่าที่กล้ามเนื้อภายในช่องคอหย่อนตัว ทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้น ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรนอนตะแคง หรือพยายามหาอะไรมาหนุน เพื่อให้ศีรษะยกสูงขึ้น
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ วันละ 30 นาที การออกกำลังกายที่ไม่หักโหมจนเกินไป จะส่งเสริมให้นอนหลับง่ายขึ้น และลดการตื่นระหว่างคืน
- ผู้ที่มีน้ำหนักมาก เป็นโรคอ้วน หรือมีค่าดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์มาตรฐาน ต้องควบคุมอาหาร และลดน้ำหนัก เพราะไขมันที่มากขึ้นจะทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง และเกิดอาการนอนกรน
- งดเว้นการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อภายในช่องคอหย่อนตัวลงจนเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ไม่ควรรับประทานยานอนหลับกับแอลกอฮอล์ เพราะจะกระตุ้นให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนนอน เพราะจะทำให้นอนหลับไม่สนิท
แนวทางการรักษาอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
แม้ภาวะนอนกรนอาจดูเป็นปัญหาสุขภาพเพียงเล็กน้อยสำหรับบางคน แต่ความจริงแล้วการนอนกรนสามารถทำให้เกิดอาการสมองขาดออกซิเจนขณะหลับ ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จึงไม่ควรมองข้ามปัญหาดังกล่าวมานี้ สำหรับแนวทางการรักษาอาการนอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละบุคคล ดังนี้
- ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก CPAP (Positive AIrway Pressure Therapy) เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเข้าข่ายเป็นอาการนอนกรนแบบอันตราย โดยเครื่อง CPAP เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยทำให้ทางเดินหายใจเปิดโล่งมากขึ้น ปัจจุบันถือว่าเป็นอุปกรณ์แก้นอนกรนที่มาตรฐานสากล และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการรักษาโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ใช้เครื่องมือทันตกรรมสำหรับแก้นอนกรน (Oral Appliance) สำหรับแนวทางการรักษานี้เหมาะกับผู้ที่มีอาการนอนกรนแบบไม่อันตราย และผู้ที่ไม่ต้องการรักษาภาวะนอนกรนด้วยการผ่าตัด รวมถึงผู้ที่มีโครงสร้างใบหน้าที่ผิดปกติ ซึ่งการรักษาโดยใช้อุปกรณ์ทันตกรรมนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเมื่อเทียบกับเครื่องอัดอากาศ CPAP ถือว่ามีข้อดีกว่า คือ มีขนาดเล็กกว่า สวมใส่ง่าย พกพาสะดวก และไม่ก่อให้เกิดเสียงรบกวนกับคู่นอน อย่างไรก็ตามในช่วงแรกผู้สวมใส่อาจรู้สึกเมื่อยกรามและขากรรไกรได้
- รักษาด้วยการผ่าตัด ปัจจุบันการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการนอนกรนมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและอวัยวะทางเดินหายใจของแต่ละบุคคล ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะประเมินอาการและเลือกวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น การใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency) การผ่าตัดกรามและขากรรไกร และการผ่าตัดตกแต่งผนังกั้นช่องจมูก(Septoplasty)
การตรวจการนอนหลับ
หากสนใจอยากรักษาโรคนอนกรน ขั้นต้นควรเข้าทดสอบการนอนหลับก่อน การทดสอบการนอนหลับ (Sleep apnea test) เป็นการตรวจเพื่อวิเคราะห์ความผิดปกติของร่างกายระหว่างการนอนหลับสำหรับการตรวจคุณภาพการนอนหลับ ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับการประเมินผล ตรวจวัดการทำงานของคลื่นสมอง ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจระบบหัวใจและหลอดเลือด ตรวจวัดระบบหายใจ ตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ
ตรวจความรุนแรงของการหยุดหายใจขณะหลับ ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ตรวจระดับออกซิเจนในแต่ละท่านอน ตรวจความดังของเสียงกรน และตรวจท่านอนที่ทำให้เกิดการหยุดหายใจ
ซึ่งข้อมูลจะถูกประมวลผลโดยเครื่องตรวจการนอนหลับ และรายงานผลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ปัจจุบัน การทำ Sleep test จัดเป็นการตรวจมาตรฐานสากล สำหรับการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive sleep apnea; OSA) รวมไปถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ
คลินิกนอนกรน Vital Sleep Clinic ให้บริการตรวจผู้ที่มีปัญหาความผิดปกติในการนอนหลับ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอีกทั้งมีบุคคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมจากสถาบันที่น่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อช่วยวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ