การเปิดทางเดินหายใจโดยไม่ผ่าตัด
หลังจากผู้ป่วยรับการตรวจรักษานอนกรนโดยแพทย์แล้ว แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับการตรวจการนอนหลับ (Sleep test) เพื่อแยกว่าเป็น นอนกรนแบบธรรมดา หรือนอนกรนแบบอันตราย และถ้าเป็นโรคนอนกรนแบบอันตราย การตรวจการนอนหลับ (Sleep test) จะบอกถึงระดับความรุนแรงของอาการนอนกรนแบบอันตราย ได้ว่ารุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด และมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือไม่ ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ในระหว่างรอตรวจ และรอผลการตรวจการนอนหลับ (Sleep test)
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยลดน้ำหนัก ในรายที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน , หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดที่ทำให้ง่วง และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนนอน เนื่องจากจะทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนคลายตัวมากขึ้น และสมองตื่นตัวช้าลง ส่งผลให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น และมีอาการนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น นอกจากนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้นอนหลับไม่สนิท ตื่นนอนในตอนกลางคืนได้ง่าย อาจเกิดฝันร้ายในเวลากลางคืน และมักมีแคลอรี่สูง จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนแคบลง, หลีกเลี่ยงการบริโภคสารคาเฟอีน ซึ่งมีในกาแฟ ชา ชาเขียว เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม โกโก้ ช็อคโกแลต และยาบางชนิด โดยเฉพาะยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ยาขยายหลอดลม และยาแก้คัดจมูกบางชนิด ภายใน 4-6 ชั่วโมง ก่อนนอน เนื่องจากสารคาเฟอีน และยาดังกล่าวนี้ จะกระตุ้นสมอง ทำให้ตื่นตัว และนอนไม่หลับ หรือหลับได้ไม่สนิท, หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือสัมผัสควันบุหรี่, ในขณะนอนหลับควรนอนให้ศีรษะสูงเล็กน้อย ประมาณ 30 องศาจากแนวพื้นราบ และควรนอนตะแคง
หลังจากนั้นในขั้นตอนแรก แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกไปใช้วันละครั้งก่อนนอน โดยพ่นยาเข้าไปในโพรงจมูกข้างละ 2 ครั้ง (ตามคำแนะนำในการพ่นยาในจมูก) ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกจะทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น และยังจะช่วยหล่อลื่น ทำให้การสะบัดตัวของเพดานอ่อนและลิ้นไก่น้อยลง ทำให้เสียงกรนเบาลงได้ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกจะออกฤทธิ์ในการลดเสียงกรน และลดอาการผิดปกติต่างๆ ของอาการนอนกรนเต็มที่ใช้เวลา 2 สัปดาห์
ดังนั้นผู้ป่วยควรให้ญาติ หรือคนใกล้ชิด สังเกตความดังของเสียงกรนว่ายังมีเสียงกรนดังเท่าเดิมหรือลดลง และมีเสียงกรนดังๆหยุดๆเป็นระยะ เหมือนคนหายใจติดขัด หายใจไม่สะดวกหรือไม่ รวมถึงสังเกตอาการผิดปกติเวลานอน เช่น มีการหยุดหายเป็นช่วงๆ เสียงการหายใจไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นเวลานาน มีอาการลุกขึ้นมาหายใจเฮือกเหมือนคนขาดอากาศหายใจ หรือยังมีอาการง่วงนอน อ่อนเพลียในตอนกลางวันอยู่หรือไม่ โดยก่อนพ่นยาในจมูก และหลังจากพ่นยาในจมูกแล้ว 2 สัปดาห์ รวมทั้งตัวผู้ป่วยเอง ควรสังเกตอาการต่างๆที่ผิดปกติก่อนพ่นยาในจมูก และหลังพ่นยาในจมูกแล้ว 2 สัปดาห์ด้วย เพื่อบอกผลการรักษาโดยใช้ยาพ่นจมูกแก่แพทย์ผู้รักษา ถ้าเสียงกรนลดลงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และอาการผิดปกติอื่นดีขึ้นมาก แนะนำให้ใช้ยาพ่นในจมูกต่อเนื่อง จนกว่าจะได้รับการตรวจการนอนหลับ การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเป็นระยะเวลานาน ถ้าพ่นจมูกด้วยวิธีที่ถูกต้อง จะไม่เกิดอันตราย หรือผลข้างเคียงใดๆ
การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกในเด็กที่นอนกรนส่วนใหญ่ คือเด็กที่มีสาเหตุการนอนกรนจากต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของจมูกโตผิดปกติ ภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ เด็กที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน จนทำให้ไขมันบริเวณคอกดทับทางเดินหายใจ และสาเหตุอื่น ๆ เช่น มีความผิดปกติของโครงกระดูกบริเวณใบหน้าโดยกำเนิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตรวจการนอนหลับ (Sleep test) เพื่อวินิจฉัยวิธีการรักษาว่าควรรักษาโรคนอนกรนด้วยยาสเตียรอยด์พ่นจมูกหรือไม่
เมื่อได้รับผลการตรวจการนอนหลับแล้วจึงกลับมาพบแพทย์ เพื่อทราบถึงผลและแนวทางในการรักษาต่อไป