สะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อย อย่านิ่งนอนใจ

สะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อย อย่านิ่งนอนใจ

นอนสะดุ้ง สะดุ้งตื่นกลางดึก (Hypnic jerk) เป็นภาวะหดตัวของกล้ามเนื้อขณะหลับนอนอย่างกะทันหัน จนทำให้เกิดอาการสะดุ้งตื่นเวลานอน ซึ่ง hypnic ย่อมาจาก hypnagogic มีความหมายว่า สภาวะขณะกำลังจะหลับ โดยอาการสะดุ้งตื่นจะพบบ่อยในช่วงระยะนี้ ซึ่งปกติการนอนแล้วสะดุ้งตื่นมักเกิดขึ้นกับร่างกายซีกใดซีกหนึ่งเท่านั้น เช่น แขนซ้าย ขาซ้าย เป็นต้น หลายคนอาจสงสัยว่าอาการนอนสะดุ้งเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือเปล่าหากเกิดขึ้นบ่อย บทความนี้เรามีคำตอบ

ลักษณะของอาการสะดุ้งตื่นเวลานอน

อาการสะดุ้งตื่น คือ อาการนอนกระตุกเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้งติดต่อกัน หลังจากนั้นภาวะกระตุกจะลดความถี่ลงและหายกลับเป็นปกติ ขณะสะดุ้งตื่นกลางดึก ผู้ที่นอนสะดุ้งมักฝันร้าย หรือเห็นภาพหลอนร่วมด้วย บางคนเห็นแสงสว่างวาบ ทำให้แสบตาจนมองไม่เห็น บางคนรู้สึกเหมือนกำลังร่วงลงจากเหว ในขณะที่บางคนอาจได้ยินเสียงเสียงทุบ หรือเสียงตะคอกดัง

ความรุนแรงของอาการสะดุ้งตื่นเวลานอนอาจต่างกันในแต่ละบุคคล โดยปกติหากนอนแล้วสะดุ้งตื่น ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด แต่สำหรับผู้ที่ฝันร้ายสะดุ้งตื่นบางคน อาจรู้สึกเหน็บชา ภาวะสะดุ้งตื่นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุจากรูปแบบพฤติกรรมและการใช้ชีวิต

สาเหตุของการสะดุ้งตื่นกลางดึก

สาเหตุของการสะดุ้งตื่นกลางดึก

สาเหตุของการเกิดภาวะนอนสะดุ้งยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าอาการฝันร้ายสะดุ้งตื่นเกิดจากระบบประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมอาการตกใจของร่างกาย ระหว่างที่เรานอนหลัับ กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัวเต็มที่ ทำให้สมองเข้าใจว่าร่างกายกำลังล้ม หรือตกลงมาจากที่สูง เส้นประสาทจึงปล่อยสารสื่อประสาทออกมา และสมองตอบสนองด้วยการสั่งให้กล้ามเนื้อกระตุก

บางครั้งอาการสะดุ้งตื่น หรือฝันร้ายเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสในการเกิดของภาวะดังกล่าว เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป การออกกำลังกายอย่างหนักก่อนนอน ความเครียด วิตกกังวล รวมไปถึงการอดนอน และภาวะการนอนหลับที่ผิดปกติ

ทำความรู้จัก 4 ปัจจัยเสี่ยง ‘นอนแล้วสะดุ้งตื่น’

  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป : เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนจะทำให้สมองรู้สึกตื่นตัว หลังจากที่เราดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน สารเหล่านี้จะอยู่ในร่างกายต่ออีกหลายชั่วโมง ซึ่งรบกวนการนอนหลับ ทำให้เราฝันร้าย นอนไม่หลับ หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ จากการศึกษาพบว่า แม้คนที่ดื่มกาแฟก่อนเข้านอนเป็นเวลา 6 ชั่วโมงก็ยังมีปัญหาในการนอนหลับ นอนกรน รวมไปถึงนอนแล้วสะดุ้งตื่น
  • ออกกำลังกายหนักก่อนนอน : แม้การออกกำลังกายจะดีต่อคุณภาพการนอนหลับ ช่วยทำให้นอนหลับง่าย แต่การออกกำลังกายหนักตอนกลางคืนหรือก่อนนอนนั้นไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากส่งผลให้ร่างกายตื่นตัว สะดุ้งตื่นง่าย เสี่ยงต่อการเกิดภาวะนอนกรน และสำลักน้ำลายจากอาการหยุดหายใจขณะหลับ 
  • อดนอน นอนหลับไม่เพียงพอ : ปัญหาในการนอนหลับ และภาวะนอนหลับที่ผิดปกติ อาจนำไปสู่โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ภาวะอดนอน นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อารมณ์แปรปรวน ความจำแย่ลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการสะดุ้งตื่นเวลานอน
  • ความเครียด วิตกกังวล : ภาวะเครียดและอาการวิตกกังวลในแต่ละวันมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาการนอนหลับ และฝันร้ายสะดุ้งตื่น เมื่อเราเครียดหรือวิตกกังวลระหว่างวัน ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้นแม้ในช่วงที่เรานอนหลับ ซึ่งทำให้คุณภาพการนอนหลับต่ำลง นอนไม่ค่อยหลับ เพราะอาการวิตกกังวลจะรบกวนภาวะกำลังจะหลับ และทำให้เกิดอาการนอนแล้วกระตุก บางคนที่สะดุ้งตื่นง่ายเป็นประจำ มักกังวลเกี่ยวกับการนอนหลับ ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาอดนอนและสะดุ้งตื่นกลางดึกเลวร้ายมากขึ้น   
สะดุ้งตื่นกลางดึก อันตรายไหม

สะดุ้งตื่นกลางดึก อันตรายไหม

แม้อาการสะดุ้งตื่นกลางดึกจะรบกวนการนอนหลับ แต่โดยทั่วไปเป็นภาวะที่ไม่อันตรายต่อชีวิต จากสถิติพบว่าคนส่วนใหญ่มากกว่า 70% เคยมีอาการสะดุ้งตื่นเวลานอน ซึ่งอาการดังกล่าวนี้เป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงขณะกำลังจะหลับของร่างกาย

ปัญหานอนสะดุ้งอาจเกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพที่ลักษณะอาการคล้ายคลึงกัน เช่น อาการขากระตุกขณะหลับ (Periodic limb movements) ลักษณะเด่นของอาการ คือ กล้ามเนื้อขาส่วนล่างหดและงอตัวขณะหลับและตื่นนอน และภาวะขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome) ผู้มีปัญหานี้จะรู้สึกเหมือนมีอะไรมาไต่บริเวณขา น่อง และเท้า โดยความรุนแรงของอาการจะมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงกลางคืน และอาจรบกวนการนอน ทำให้นอนหลับไม่ค่อยสนิท

บางครั้งอาการสะดุ้งตื่นเวลานอนมีความเกี่ยวข้องกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นอาการผิดปกติของการนอนหลับที่ึควรได้รับการรักษา เนื่องจากเมื่อนอนแล้วสะดุ้งตื่นบ่อยจะทำให้เราพักผ่อนไม่เพียงพอ ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด อาจหยุดหายใจขณะหลับติดต่อกันเป็นเวลาหลายนาทีจนทำให้เสียชีวิต

รับมืออย่างไรเมื่อนอนสะดุ้ง

รับมืออย่างไรเมื่อนอนสะดุ้ง

เนื่องจากอาการสะดุ้งตื่นเวลานอนเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในช่วงกำลังจะหลับ การหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะนอนสะดุ้งจึงเป็นไปไม่ได้ แต่เราสามารถรับมือกับปัญหาการนอนหลับนี้ได้ด้วยคำแนะนำต่อไปนี้

  • ออกกำลังกายให้เสร็จก่อนเข้านอนอย่างน้อย 90 นาที
  • งดดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง หรือมีคาเฟอีนตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงก่อนนอน
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ก่อนเข้านอน
  • งดใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บแล็ต และคอมพิวเตอร์ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 30 นาที
  • ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายก่อนนอน เช่น เล่นโยคะ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ เป็นต้น

หากสงสัยว่าอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกเกิดจากยาที่ใช้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา หากอาการนอนแล้วสะดุ้งตื่นเกิดขึ้นบ่อย หรือเริ่มลุกลามไปยังบริเวณอื่นของร่างกาย อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นอาการของโรคลมชัก หรือภาวะผิดปกติของระบบประสาท ศีรษะหรือกระดูกสันหลังเคยได้รับบาดเจ็บ หรือในกรณีร้ายแรงที่สุด การสะดุ้งตื่นกลางดึกอาจเป็นสัญญาณของการทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว อย่างไรก็ตามหากสงสัยว่าปัญหาการนอนหลับที่เกิดขึ้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ  ควรเข้ารับการตรวจการนอนหลับ

ขั้นตอนแรก รับคำปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ เพื่อให้แพทย์ซักประวัติ และประเมินความจำเป็นในการตรวจการนอนหลับ ในกรณีที่พบว่าอาการนอนกระตุกมีความสัมพันธ์ร่วมกับโรคร้าย แพทย์จะเริ่มเก็บข้อมูลพฤติกรรมการนอนหลับ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับโรคของคุณ

Scroll to Top