หัวข้อย่อย
– นอนกรน เกี่ยวข้องยังไงกับ ใหลตาย
– นอนกรนเป็นประจำ อันตรายไหม ?
– เสี่ยงใหลตาย เพราะหยุดหายใจขณะหลับ ?
– สังเกตอาการแบบไหน คือหยุดหายใจขณะหลับ
– รักษายังไงเมื่อปัญหา..นอนกรน มาเยือน
รู้กันไหมว่า ภาวะใหลตายไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นปัญหาอันตรายถึงชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้เพียงแค่นอนกรน ดังนั้นปัญหาการนอนกรนจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆที่สามารถมองข้ามได้เพราะเป็นสาเหตุที่อาจทำให้เกิดโรคร้ายตามมาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ในบทความนี้เราจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการนอนกรนกับภาวะใหลตาย รวมถึงอาการนอนกรนแบบใดที่อันตรายเสี่ยงต่อการหยุดหายใจขณะหลับซึ่งเป็นที่มาของการเกิดโรคร้ายต่างๆแทรกซ้อน
นอนกรน เกี่ยวข้องยังไงกับ ใหลตาย
การนอนกรนนั้นมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะใหลตาย เนื่องจากการนอนกรนเป็นปัญหาที่มักจะมีภาวะการหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้นแทรกซ้อนพร้อมๆกัน ซึ่งการหยุดหายใจในขณะหลับส่งผลกระทบให้หัวใจเกิดการทำงานหนักมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานตลอดทั้งคืนสะสมในแต่ละวัน มีอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นขณะหลับ เกิดการทำงานที่ผิดปกติ
โดยเฉพาะในช่วงที่มีอาการสะดุ้งเฮือกตื่นขึ้นจากการนอนหลับ ร่างกายและหัวใจจะถูกกระตุ้นให้เกิดการทำงานที่หนักมากขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม จากระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) เพื่อตอบสนองต่อร่างกายที่หยุดหายใจในขณะหลับให้เกิดความตื่นตัว และตื่นขึ้นจากการนอน ซึ่งส่งผลให้ร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนเท่าที่ควร หัวใจทำงานหนัก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือ ใหลตาย
นอนกรนเป็นประจำ อันตรายไหม ?
รู้จักกับสาเหตุของการเกิดปัญหาการนอนกรนกันมาแล้ว สงสัยกันไหมคะว่า ถ้ากรนอย่างเป็นประจำจะมีอันตรายมากแค่ไหน เรามาดูกัน
การกรนสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท
1.กรนแบบธรรมดา
เป็นภาวะที่มีอาการกรนจากการที่ทางเดินหายใจส่วนต้นตีบแคบลงบางส่วนในขณะนอนหลับ แต่ยังสามารถหายใจได้ ซึ่งการกรนในรูปแบบนี้ยังอยู่ในระดับที่ไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย เพียงแต่เกิดเสียงกรนที่รบกวนคนรอบข้าง ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดผลกระทบด้านลบต่อความสัมพันธ์
2.กรนแบบมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย
โดยเกิดขึ้นจากการที่ทางเดินหายใจส่วนต้นตีบแคบและถูกปิดกั้นมากจนทางเดินหายใจหยุดและขาดจังหวะเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถหายใจได้ชั่วขณะ โดยจะมีลักษณะของอาการที่กรนเสียงดังและอยู่ๆก็หยุดเงียบไปเป็นชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเกิดการสะดุ้งเฮือกขึ้นมาเพื่อหายใจในขณะที่หลับ
การหยุดหายใจในขณะหลับส่งผลให้การทำงานของระบบภายในร่างกายและอวัยวะต่างๆเกิดการทำงานที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือ ภาวะใหลตาย
เสี่ยงใหลตาย เพราะหยุดหายใจขณะหลับ ?
นอนกรนหยุดหายใจขณะหลับเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของการนอนหลับ ซึ่งเป็นภาวะที่มีความอันตรายรุนแรงถึงชีวิตหากไม่รีบรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ โดยจะส่งผลกระทบให้การนอนหลับไม่มีคุณภาพ ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดและก๊าซออกซิเจนลดลง ส่งผลรบกวนการนอนหลับ ทำให้ตื่นขึ้นบ่อยในตอนกลางดึก นอนหลับไม่สนิท เนื่องจากสมองรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และอีกหนึ่งผลเสียที่เกิดขึ้นจากการหยุดหายใจในขณะหลับ คือการทำให้เกิดปัญหาหายใจได้ลำบากในขณะนอนหลับ หายใจไม่ออก เนื่องจากทางเดินหายใจถูกปิดกั้น ทำให้เกิดปัญหาที่ร่างกายจะต้องตื่นขึ้นมาบ่อยๆในตอนกลางดึกเพื่อทำการหายใจ ส่งผลให้คุณภาพของการนอนหลับแย่ลงส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
ซึ่งการเกิดปัญหานอนกรนหยุดหายใจในระยะยาวอาจส่งผลกระทบให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของระบบต่างๆในร่างกาย เช่น ระบบหลอดเลือด หัวใจ ระบบต่อมไร้ท่อ และการเกิดการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะต่างๆ นำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อน ดังนี้
– ใหลตาย หรือ กล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
– ความดันโลหิตสูง
– หลอดเลือดสมอง(อัมพาต)
– หัวใจเต้นผิดจังหวะ
– โรคสมองเสื่อม
– โรคสมาธิสั้น
– สมรรถภาพทางเพศลดลง
อ่านเพิ่มเติม หยุดหายใจขณะหลับ เสี่ยงโรคใหลตายไม่รู้ตัว
สังเกตอาการแบบไหน คือหยุดหายใจขณะหลับ
หากว่าเรานอนคนเดียว เราจะรู้ได้ยังไงว่าเราเกิดภาวะหยุดหายใจในขณะหลับขึ้นในเมื่อไม่มีใครคอยช่วยสังเกตหรือคอยบอกเรา ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากอาการเบื้องต้นเหล่านี้
– กรนเสียงดังเป็นประจำ
– หายใจไม่ออก สะดุ้งเฮือกกลางดึก
– หายใจแรงมากกว่าปกติในขณะนอนหลับ
– ปวดศีรษะ ปวดหัว มึนหัวในตอนตื่น
– ง่วงนอน อ่อนเพลียในตอนกลางวัน
– สมรรถภาพทางเพศลดลง
– หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน หลงลืมบ่อย
– ความดันโลหิตสูงโดยหาสาเหตุไม่ได้
– ในเด็กอาจมีพฤติกรรม สมาธิสั้น ก้าวร้าว ซุกซนมากกว่าปกติ
– ตรวจสุขภาพการนอนหลับ(Sleep Test)
รักษายังไงเมื่อปัญหา..นอนกรน มาเยือน
ในปัจจุบันวิธีการแก้ปัญหานอนกรนมีหลากหลายวิธีที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากการรักษาอาการในแต่ละบุคคลจะต้องประเมินจากอาการระดับความรุนแรงและสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
1.เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP)
เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้อากาศสามารถเดินทางเข้าออกทางเดินหายใจได้สะดวกในขณะนอนหลับ ด้วยการอัดแรงดันอากาศส่งผ่านไปยังหน้ากากที่สวมใส่ในขณะหลับ โดยอากาศที่ส่งผ่านเข้ามาจะช่วยเปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น ป้องกันการปิดกั้นทางเดินหายใจ เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจในขณะหลับระดับปานกลาง-รุนแรง และต้องการผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว
2.อุปกรณ์ทางทันตกรรมรักษานอนกรน (Oral appliance)
หรือที่ครอบฟันแก้นอนกรน เป็นอุปกรณ์ทางทันตกรรมที่ใช้สำหรับครอบฟันในขณะนอนหลับ เพื่อช่วยให้ทางเดินหายใจขยายและกว้างขึ้น โดยตัวอุปกรณ์จะมีหน้าที่ช่วยในการจัดตำแหน่งของลิ้นและขากรรไกร ป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อลิ้น กล้ามเนื้อภายในช่องคอหย่อนตัวลงอุดกั้นทางเดินหายใจในขณะหลับ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหากรนเล็กน้อยถึงปานกลาง และต้องการความสะดวกสบายในการใช้งานและการพกพาอุปกรณ์ในการเดินทาง
3.โปรแกรมบำบัดกล้ามเนื้อใบหน้าและทางเดินหายใจส่วนต้น (Myofunctional Therapy)
เป็นวิธีแก้การนอนกรนด้วยการรักษาที่ต้นเหตุเพียงวิธีเดียว โดยโปรแกรมการบำบัดที่จะมุ่งเน้นไปในส่วนของการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อโคนลิ้น กล้ามเนื้อขากรรไกร เพดานอ่อน และทางเดินหายใจส่วนต้น เพื่อป้องกันการอุดกั้นทางเดินหายใจ จากกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงหรือหย่อนคล้อยตัวลงกีดขวางทางเดินหายใจ อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงการทำงานของกล้ามเนื้อภายในช่องคอ กล้ามเนื้อทางเดินหายใจที่เกิดการทำงานที่ผิดปกติ ให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเป็นปกติในขณะหลับ
อ่านเพิ่มเติม 7 วิธีแก้นอนกรน รักษานอนกรนโดยไม่ผ่าตัด
รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
รักษาอาการนอนกรนด้วยวิธีการผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหานอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจในขณะหลับร่วมด้วย และไม่สามารถทำการรักษาได้ด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด ซึ่งอาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหาทางด้านโครงหน้าที่ผิดปกติ เช่น คางสั้น ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีขากรรไกรที่ไม่สมดุลกัน โดยการผ่าตัดเพื่อลดปัญหาการกรน จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและสาเหตุที่เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจเพื่อเลือกวิธีการรักษาในการผ่าตัดที่เหมาะสม
1.ผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกรบนและล่าง
เป็นวิธีการรักษาสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ จากการที่กระดูกขากรรไกรบนและล่าง มีลักษณะถอยไปทางด้านหลังจากพันธุกรรม หรือ เกิดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้ขนาดของทางเดินหายใจเล็กลง
2.ผ่าตัดตกแต่งลิ้นไก่ และ เพดานอ่อน ด้วยเลเซอร์
เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการกรนและภาวะหยุดหายใจในขณะหลับในระดับรุนแรงน้อยถึงปานกลาง การรักษาด้วยวิธีนี้จะทำการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อบริเวณลิ้นไก่และเพดานอ่อนที่มีความหย่อนคล้อย และปิดกั้นทางเดินหายใจออกด้วยการใช้เลเซอร์ เพื่อให้ทางเดินหายใจกว้างมากขึ้น ทางเดินหายใจสามารถเดินทางได้สะดวกในขณะนอนหลับ
3.ผ่าตัดแก้ผนังกั้นช่องจมูกคด
ในผู้ป่วยบางรายปัญหาการกรนและการหยุดหายใจในขณะหลับเกิดจากการที่มีผนังกั้นช่องจมูกคด โดยสามารถเกิดขึ้นได้จากภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด การเกิดอุบัติเหตุ หรือ การเจริญเติบโตที่ผิดปกติของขากรรไกร การผ่าตัดแก้ไขช่องจมูกที่มีความผิดปกติ จะช่วยแก้ไขปัญหาการกรนและทำให้การหายใจเป็นปกติ
อ่านเพิ่มเติม การรักษานอนกรนโดยการผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ
เป็นวิธีเเก้การกรนที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเพียงเล็กน้อย มีอาการกรนนานๆทีไม่บ่อยครั้ง ระดับของการกรนอยู่ในระดับเล็กน้อยเเละไม่มีภาวะหยุดหายใจในขณะหลับร่วมด้วย
1.ลดน้ำหนักตัว : การลดน้ำหนักตัวจะช่วยให้ไขมันที่บริเวณรอบลำคอลดลง โดยเฉพาะไขมันในช่วงด้านหลังของลำคอ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจจากไขมันที่สะสม
2.ปรับเปลี่ยนท่านอน : ท่านอนหงาย เป็นท่านอนที่มีโอกาสทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ เนื่องจากมีความเสี่ยงในการที่กล้ามเนื้อลิ้น เเละเพดานอ่อน จะตกลงมาปิดกั้นทางเดินหายใจในขณะนอนหงาย ซึ่งการนอนตะแคงจะช่วยให้ทางเดินหายใจสามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น
3.หนุนศีรษะให้สูงขึ้นในขณะหลับ : ใช้หมอนเสริมหนุนศีรษะให้สูงขึ้นในขณะนอนหลับ เพื่อให้อากาศสามารถไหลเวียนได้สะดากมากยิ่งขึ้น เเละช่วยดันลิ้น กับ คางให้ยื่นไปทางด้านหน้า เพื่อลดความเสี่ยงการอุดกั้นของทางเดินหายใจ
4.ไม่รับประทานเครื่องดื่มแอลกกอฮอล์ก่อนนอน : เครื่องเเอลกอฮอล์มีฤทธิ์ส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังคอหอยเกิดการคลายตัวเเละหย่อนคล้อยตัวลงในขณะหลับ
5.หลีกเลี่ยงยาบางกลุ่ม : ยาบางชนิดมีผลกระทบที่อาจเพิ่มโอกาสในการกรนขึ้นได้ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาเเก้เเพ้ ยานอนหลับ ตัวยาเหล่านี้ส่งผลให้กล้ามเนื้อลิ้น เเละกล้ามเนื้อในช่องคอเกิดการคลายตัว ซึ่งนำไปสู่การกรน