อาการหอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม เป็นภาวะที่พบบ่อย เพราะเกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น หลังออกกำลังกาย บางคนอาจรู้สึกเหนื่อยมากในขณะที่บางคนอาจรู้สึกเหนื่อยน้อย ซึ่งเป็นอาการเหนื่อยตามปกติ โดยอาการหายใจไม่อิ่มจะไม่เกิดขึ้นเรื้อรัง เพราะหากเราหายใจไม่อิ่ม จุกที่คอ ติดต่อกันมากกว่า 2 วันขึ้นไป อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม
อาการหายใจไม่อิ่ม คืออะไร อันตรายไหม
หายใจไม่อิ่ม (Shortness of breath) เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ผู้ที่หายใจไม่อิ่มจะรู้สึกจุกอก ไม่สามารถสูดอากาศเข้าปอดได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้มีอาการหายใจสั้น ๆ หายใจติดขัดและอึดอัด ทั้งนี้อาจมาหลายปัจจัย เช่น ออกกำลังกายอย่างหนักจนทำให้เหนื่อยมาก หายใจไม่ทัน บางครั้งก็เกิดจากสภาพอากาศที่ทำให้หายใจลำบาก ซึ่งหากอาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้
- รู้สึกหัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก
- หายใจไม่สะดวก อึดอัด มีอาการหายใจสั้น ๆ
- หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนจะหมดลมหายใจ
สาเหตุของอาการหายใจไม่อิ่ม
หลายคนอาจมองข้ามเมื่อรู้สึกหายใจไม่อิ่ม เพราะเห็นว่าไม่ใช่ปัญหาทางสุขภาพที่รุนแรง และอาจเกิดขึ้นได้ปกติจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากเรารู้สึกหัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่มจากการใช้แรงมากคงเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีอาการหายใจไม่อิ่ม จุกที่คอ จากการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย อาจบ่งบอกได้ว่าเป็นสาเหตุของโรคร้าย เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคสมอง โรคโลหิตจาง โรคไต หรือโรคตับ เป็นต้น
สาเหตุหายใจไม่อิ่มที่เกิดจากโรค
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ : โรคนี้เป็นโรคสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการเกิดภาวะหายใจไม่อิ่ม หากผู้ป่วยมีอายุมากขึ้น และมีหลายโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ความเสี่ยงที่จะเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่มก็จะสูงขึ้นกว่าคนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง
โรคปอด : กลุ่มโรคทางปอด เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ ปอดบวม วัณโรค โรคเหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยมักรู้สึกหายใจไม่อิ่ม ไม่สามารถสูดหายใจเข้าปอดได้เต็มที่
ผู้ที่มีโรคประจำตัวทั้งโรคหัวใจ และกลุ่มโรคทางปอด ควรหมั่นสังเกตอาการตนเองว่า มีอาการหายใจไม่อิ่ม จุกที่คอ หรือภาวะผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจเป็นเวลานานกว่า 2-3 วัน ให้รีบพบแพทย์ เพื่อประเมินอาการและหาวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป
สาเหตุหายใจไม่อิ่มที่เกิดได้ทั่วไป
หลายครั้งอาการหายใจไม่อิ่มก็เกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ออกกำลังกายอย่างหนัก ใช้แรงมากเกินไป รู้สึกเครียด วิตกกังวล ตกใจ นอนไม่เต็มอิ่ม นอนไม่พอ หรืออาจเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้ร่างกายรู้สึกหายใจไม่สะดวก เนื่องจากอากาศไม่เพียงพอ เช่น บริเวณยอดเขา สถานที่ร้อนและคับแคบ นอกจากนี้ภาวะหายใจไม่อิ่มยังอาจเกิดขึ้นได้จากสภาวะความผิดปกติของระบบหายใจ เช่น มีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือปอดได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ ซึ่งสาเหตุทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และอาการจะไม่ส่งผลกระทบยาวนานจนกลายเป็นภาวะเรื้อรัง
ระดับความรุนแรงของอาการหายใจไม่อิ่ม
เพื่อประเมินสมรรถภาพผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค แพทย์จะซักถามอาการเหนื่อยที่สัมพันธ์กับการออกกำลังของผู้ป่วย โดยใช้ Word Scale (Modified Medical Research Council Scale) เป็นเกณฑ์พิจารณา ซึ่งแบ่งเป็น Grade 0 ถึง 4 ดังนี้
- Grade 0 รู้สึกหอบเหนื่อยเมื่อออกกำลังกายอย่างหนัก
- Grade 1 มีอาการเหนื่อยหากต้องเดินเร็วบนทางราบหรือขึ้นเขา
- Grade 2 เดินบนทางราบได้ช้ากว่าคนปกติที่อายุเท่ากัน มักหยุดพักเพื่อหายใจเมื่อเดินได้สักพัก
- Grade 3 หยุดพักทุก 2 – 3 นาทีเพื่อหายใจ
- Grade 4 หอบเหนื่อยง่าย เมื่อสวมถอดเสื้อผ้า หรือต้องออกจากบ้าน
จะทราบได้อย่างไรว่าอะไรเป็นสาเหตุหลัก
เนื่องจากสาเหตุของหายใจไม่อิ่มเกิดขึ้นได้จากทั้งโรคและไม่ใช่โรคประจำตัว ดังนั้นแพทย์จึงต้องซักถามประวัติโดยละเอียด อาการเหนื่อยของผู้ป่วย รวมไปถึงประเมินผลการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด การทำงานของอวัยวะ โดยเฉพาะการทำงานของทรวงอกขณะหายใจ และตรวจการทำงานหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ด้วยวิธีการตรวจเชิงลึกจึงจะสามารถช่วยระบุสาเหตุหลักของอาการเหนื่อยง่าย และหายใจไม่อิ่ม
แต่บางครั้งอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ง่วงนอน หายใจติดขัด ก็มาจากสาเหตุนอนไม่พอ นอนไม่เต็มอิ่ม ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพการนอนหลับที่ไม่ควรมองข้ามเช่นเดียวกัน การนอนหลับที่มีประสิทธิภาพ ควรอยู่ที่ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน โดยในขณะที่เรากำลังนอนหลับ ร่างกายจะได้พัฒนาและซ่อมแซ่มกระบวนการต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ หากนอนไม่พอ หรือนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่กลุ่มโรคอันตราย
แนวทางป้องกันอาการหายใจไม่อิ่ม
- หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหายใจไม่อิ่ม เช่น สถานที่คับแคบ อากาศที่เป็นมลพิษ
- งดสูบบุหรี่ เพราะส่งผลต่อการทำงานของระบบหายใจ
- งดออกกำลังกายอย่างหนัก หรือกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก เช่น ยกของหนัก วิ่งรอบสนาม
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากการนอนไม่พอ สามารถทำให้หายใจไม่อิ่ม
- รับประทานที่ดีต่อสุขภาพ กรณีผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน ควรออกกำลังกายควบคู่กับการควบคุมน้ำหนัก
แม้การหายใจไม่อิ่มเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับทุกคน และสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติเองได้ แต่หากเมื่ออาการเกิดขึ้นยาวนานจนกลายเป็นเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และประเมินระดับความรุนแรง เพราะอาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นบ่อย อาจบ่งบอกว่าคุณกำลังเป็นโรคร้ายแรงแต่ไม่รู้ตัว